วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เมล็ดมะค่าอ่อน ของโปรดลิงป่า

มะค่า ---> มากค่า มากคุณค่า

วันนี้นำเอาเรื่องราวของเพื่อนๆที่แชร์ประสบการณ์ดีๆเกี่ยวกับ มะค่า มะค่าโมง ให้สมดั่งคำพ้องที่ว่า มะค่า นั้น มากค่า มีคุณค่าเหลือเกิน โดยความน่าสนใจอยู่ที่เป็นสิ่งที่ผู้เล่าเรื่องราวผ่านหน้าบล๊อกของเค้า(และเราไปแอบขอนำมาโพสต์ให้เพื่อนๆได้อ่านอีกทอด) ได้เดินทางล่องไพรสู่ผืนป่าพบเจอสัมผัสกับเหตุการณ์จริงที่อิงเอื้ออาศัยกันและกันระหว่างต้นไม้ในป่าเขาลำเนาไพร ที่ต่างก็เอื้ออาทรอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลมาเนิ่นนานโดยสัตว์น้อยใหญ่นั้นก็อาศัยร่มเงาความชุ่มชื้นจากป่าไม้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งที่พักพิงและเป็นแหล่งอาหาร ส่วนต้นไม้นั้นเชื่อแน่ว่าต้องได้ประโยชน์จากสัตว์น้อยใหญ่ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเชื่อมโยงกันเป็นสายใยที่บางทีเราเองก็ยากที่แยกแยะและทำความเข้าใจในการเกื้อกูลกันในห่วงโซ่ที่ซับซ้อน

เพราะฉะนั้นเรื่องราวเล็กๆระหว่างเจ้าลิงป่า และ ต้นมะค่าโมง ที่เราจะขอหยิบยกนำเอาบทที่มีเพื่อนๆในโลกออนไลน์เขียนเอาไว้นำเสนอในวันนี้ก็เพื่อที่จะย้ำเตือนย้อนให้เราตระหนักอย่างจริงจังถึงความเป็นส่วนหนึ่งว่าตัวเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆของธรรมชาติมิใช่ทุกอย่าง

เพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจรวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เราเข้าใจว่าเราควบคุมธรรมชาติและสามารถทำได้ทุกอย่างบนโลกใบนี้โดยมิได้คิดถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะตามมาแปรเปลี่ยนเป็นอยู่อย่างมีธรรมะอ่อนน้อมถ่อมตนให้ความเคารพต่อธรรมชาติเหตุเพราะตัวเราก็คือธรรมและธรรมชาติก็คือเรา ถ้าหากทำได้เช่นนี้แล้วก็ย่อมที่จะน้อมนำให้เราเข้าถึงความล้ำค่าของสิ่งอยู่ที่อยู่รอบตัวเราได้อย่างแน่นอน

...................................................................................................................................................................

มล็ดมะค่าอ่อนกินได้ คุณเคยลองหรือยัง?

ครั้งหนึ่งระหว่างเดินป่า ฝูงลิงป่าทำให้ผมมีโอกาสได้ชิม เหล่าลิงกำลังแกะฝักมะค่า
เพื่อที่จะกินเมล็ดข้างใน ขณะผมเดินเข้าใกล้ ฝูงลิงรู้ตัวว่ามีภัยมาก็พากันหนี
พวกมันกระโจนไปตามยอดไม้ เสียงดังโครมคราม โดยทิ้งฝักมะค่า ไว้เกลื่อนพื้น
เมื่อหยิบขึ้นดู ตรงขอบฝักมีรอยกัดแทะ ฉีกทึ้ง เปลือกเปิดเผยอขึ้น มองเห็นด้านในสีขาว
แต่ไม่ถึงเนื้อใน 


ลิงป่ายังไม่ทันได้ลิ้มรสเนื้อมะค่าอ่อน แสดงว่าผมเข้ามาขัดจังหวะการกินของพวกมัน
ฝักมะค่าอ่อนสีเขียวสด แต่เปลือกแข็ง และเหนียว น่าทึ่งที่ฟันอันแหลมคม กับพลังในการฉีกดึง
ของมันสามารถแกะเปลือกแข็งๆได้โดยปราศจากเครื่องทุ่นแรงใดๆ

ลำพังมนุษย์ใช้มีดพับที่คมกริบก็ยังยากที่จะเฉือนเข้า

เมื่อแบะเปลือกออกได้ (ซึ่งใช้เวลาพอสมควร) ภายในฝักจะมีเมล็ดอ่อนสีขาวเรียงตัวเป็นแถว
ตามแนวยาวของฝัก
 เมล็ดมะค่าอ่อน มีรสชาติหวานมัน กรอบอร่อย
แต่จะฝาด หากกินโดยไม่แกะเปลือกนอกที่หุ้มเมล็ดทิ้งไป หลังจากได้ลอง ผมฟันธงได้เลยว่า
พวกลิง กับสัตว์ป่าอีกหลายชนิด คงชอบกินเมล็ดมะค่ามาก
และคิดว่าพวกมันก็คงเห็นด้วยกับผมเป็นแน่ เพราะสัตว์ป่ากับผมมีรสนิยมคล้ายกัน! (ฮา)

ฝักอ่อนของมะค่าเกิดขึ้นราวๆเดือนสิงหา
แต่หากย้อนไป มะค่าจะออกดอกสะพรั่งประมาณเดือนเมษา จากนั้นจะร่วงหล่นเต็มพื้น
เป็นอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด แต่ที่ชื่นชอบดอกมะค่าเป็นพิเศษคือ อีเก้ง



ร่องรอยของเจ้าลิงป่าพยายามจะแกะกินเมล็ด (ที่อยู่ด้านในฝักมะค่าโมง)

ภายในฝักมะค่าที่ถูกแบะออก  เม็ดสีขาวคือส่วนที่กินได้
...............


นุษย์ตัดไม้เนื้อดีแทบหมดป่า หนึ่งในนั้นคือ ต้นมะค่า
มาถึงวันนี้กลับมีความคิดที่จะปลูกมันขึ้นใหม่เพื่อทดแทน
      
การยิงเมล็ดมะค่าด้วยหนังสติ๊ก ให้เมล็ดตกลงดิน ปล่อยงอกขึ้นเองตามยถากรรม
ในป่าเสื่อมโทรม นับเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อช่วยปลูกป่า แต่กว่าเจ้ามะค่าน้อยๆจะงอกขึ้นเป็นต้นกล้า 
ต้องรอเวลาที่เหมาะสม อาจนานเป็นหลายๆปีก็เป็นได้ เมล็ดแก่ของมะค่าโมงเปลือกแข็งมาก
ขึ้นเองยาก ถ้ามีสัตว์ หรือแมลงปากแข็งๆ มากัดแทะ มันจะโชคดี ทำให้ต้นอ่อนมีช่อง
ที่จะแทงยอดเจริญพันธุ์ได้ ถึงแม้งอกยาก แต่ต้นมะค่าโตแล้ว ตายยาก
เพราะทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ไม่เช่นนั้น ก่อนนำไปขยายพันธุ์ ต้องทำการขูดปลายเมล็ด
เพื่อเปิดช่องให้ต้นกล้าแทงออกได้ง่ายขึ้น หรือจะเอาไปเผาไฟ ก่อนนำไปแช่น้ำ 
เมล็ดจะอวบอิ่มพร้อมเจริญเติบโต

...............


ถ้าพูดถึงไม้ในป่าชั้นดี ทั้งสัก เต็ง แดง ประดู่ ฯลฯ ก็ยังมี 'ต้นมะค่า' 
อีกชนิดหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง
มะค่าเป็นไม้ยืนต้น สูงใหญ่ถึง 20-30 เมตร มีใบประกอบแบบขนนกคล้ายใบประดู่

มะค่า มะค่าโมง มะค่าใหญ่ หรือมะค่าหลวง เป็นไม้เนื้อแข็งเหนียว ทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี
จึงนิยมใช้ทำเสา รอด ตง พื้นไม้ เครื่องบน ต่อเรือ เครื่องกลึง พานท้ายปืน รางปืน
รวมถึงใช้ทำกลองโทน รำมะนา ฯลฯ ส่วนเปลือกใช้ทำน้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง เป็นต้น

'มะค่า' สอดคล้องกับคำว่า 'มีค่า' โดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม
แต่แน่นอนว่า มันเป็นไม้มีราคาสมชื่ออย่างแท้จริง เพราะในป่าเหลือน้อยลงเต็มที
ทำให้มีค่าดั่ง 'ทอง' หนำซ้ำ ลวดลาย และเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง
และคนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าสวยงาม

แปลก...ที่มนุษย์ชอบชื่นชมความงามจากสิ่งที่ตายไปแล้ว 

แต่กลับมองไม่เห็นคุณค่าขณะมันมีชีวิต
ว่าเอื้อประโยชน์กับชีวิตอื่นๆได้มากมาย ไปอีกนานแสนนาน...
อุปโภคทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างพอเพียงเถอะครับพี่น้อง!

แหล่งที่มาของบทความ
http://junglehome.multiply.com/journal/item/28/28

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มะค่าแต้ มะค่าหนาม [รูปภาพ]

วันนี้มีโอกาสเข้ามาอัพเดทข้อมูลภาพในบล๊อก มะค่า มะค่าโมง มะค่าแต้ จริงๆแล้วผู้เขียนมีความคิดว่าจะนำเอาบทความใหม่มาลงเพิ่มแต่ด้วยว่าช่วงนี้มีเรื่องราวให้ต้องจัดการหลายอย่างซึ่งติดพันมาจากช่วงประมาณปลายเดือนที่แล้ว จึงยังไม่ได้นั่งนิ่งๆให้รวบรวมเรื่องราวต่อไปที่อยากจะลงมือเขียนอย่างจริงๆจังเสียที ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีโน๊ตเอาไว้ในหัีวบันทึกเอาไว้ในใจว่าอืมอยากจะลงมือเขียนบทความเกี่ยวกับมะค่าเรื่องใหม่เป็นเรื่องอะไรดี แต่สัญญาว่าถ้าเสร็จเมื่อไหร่จะนำมาลงให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกๆท่านที่สนใจได้อ่านกันอย่างแน่นอน และที่สำคัญย่อมต้องเป็นบทความที่เป็นประโยชน์และต่อเนื่องจากความเดิมที่ผ่านมาอีกทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างแน่นอน แย้มเอาไว้ให้เห็นนิดๆพอให้เดากันเล่นก็ได้ว่าจะเป็นเรื่องราวของเมล็ดมะค่า รวมถึงเทคนิคดีๆที่ทางผู้เขียนได้มีโอกาสไปซุ่มทดลองมาเองกับมือส่วนจะเป็นทริคเล็กๆเกี่ยวกับอะไรนั้นแวะเวียนมาติดตามกันบ้างนะครับ

ดอกมะค่าแต้

ต้นกล้ามะค่าแต้ เพาะจากเมล็ด ปลายใบจะกลมมน

ต้นอ่อน มะค่าแต้ งอกเองจากผืนดินตามธรรมชาติ


มะค่าแต้ โตเต็มที่สูงใหญ่


เพื่อให้หายคิดถึง (ซึ่งจริงๆแล้วจะมีใครเข้ามาอ่านและคิดถึงกันบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ตู่เอาเองฮะว่ายังนึกถึงกัน) จึงพยายามเสิร์ชและรวบรวมเอารูปภาพของ มะค่าแต้ หรือ มะค่าหนาม ในหลากหลายมุมมองที่เพื่อนๆในอินเตอร์เนทได้ถ่ายและแชร์ไว้ ซึ่งก็ขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วยหากไม่ได้ลงให้เครคิตอย่างเต็มรูปแบบเพราะเยอะมากหลายรูปและเซฟไปก็ลืมบันทึก URL ไม่ว่ากันนะครับ

ฝากข้อสังเกตุเล็กน้อยเอาไว้สำหรับทุกคนที่สนใจ และสงสัย ว่าข้อแตกต่างเบื้องต้นระหว่าง *มะค่าโมง (มะค่าหลวง) กับ *มะค่าแต้(มะค่าหนาม) นั้นอยู่ตรงไหนบ้าง จุดสังเกตุและฟันธงลงไปได้เลยง่ายคือ


1. มะค่าหนามชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า หนาม เพราะฉะนั้นเค้าจะหนามเล็กๆขึ้นพอเป็นพิธีอยู่บนฝักแต่ไม่ถึงกับแหลมเหมือนหนามชะอมหรือหนามมะขามเทศ
2. มะค่าแต้ หรือ มะค่าหนาม รูปร่างทางกายภาพของใบนั้นจะแตกต่างจากมะค่าโมง โดยมะค่าแต้ใบจะมีลักษณะกลมปลายของใบกลมไม่แหลมเหมือนมะค่าโมงนั่นเอง
3. ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆนั้นมีอีกมากที่แตกต่างกัน ทั้งลักษณะของลำต้น เปลือกนอกล้ำต้น ฟอร์มทรงพุ่มของต้นเมื่อโตเต็มที่  รวมถึงขนาดของเมล็ดด้วยโดยมะค่าแต้หรือมะค่าหนามจะมีขนาดของเมล็ดนั้นเล็กกว่ามะค่าโมง และเมล็ดมะค่าแ้ต้จะออกไปในลักษณะกลมมนกว่า

เอาเป็นว่าฝากความรู้เล็กๆไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับแล้วเจอกันใหม่ ดูรูปมะค่าแต้ หรือ มะค่าหนาม เล่นๆไปพลางก่อน บาย