กรมฝนหลวงฯ โปรยเมล็ดพันธุ์มะค่าโมง และอื่นๆ เพิ่มพื้นที่ป่า
สืบเนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี มักจะมีความขัดแย้งการชิงน้ำ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน สัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีจำนวนลดลง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และหน่วยงานต่างๆ จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ "โปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิรลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศน์ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการเร่งขยายพันธุ์กล้าไม้กลายเป็นสภาพป่าธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ "โปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิรลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" ณ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2560 ที่ผ่านมา และกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่าเพื่อ
สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิรลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้มีสภาพสมบูรณ์และสร้างผืนป่าให้เกิดความชุ่มชื้นเพื่อเป็นการเพิ่มป่าต้นน้ำ และเพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าอีกด้วย ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการเป็นประจำทุกปีตามโครงการพระราชดำริฝนหลวง จึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับสู่สภาพเดิม รวมทั้งการอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้น โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีภารกิจหลักในการเติมน้ำในเขื่อนทั่วประเทศและในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์
รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่แหล่งต้นน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง ขณะนี้พบว่าน้ำในเขื่อนมีอยู่เพียง 25% ของความจุของเขื่อน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ในขณะที่ตัวเขื่อนสามารถจุน้ำได้ถึง 314 ล้านลูกบาศ์กเมตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และกรมชลประทานบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยปรับแผนการบินปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับความต้องการน้ำในพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำสำคัญๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-9 ก.ค.60 โดยระดมสรรพกำลังจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมากับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำตะคองจำนวน 26.99 ล้านลูกบาศ์กเมตร และดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค.ไปจนถึงเดือน ต.ค.60 ซึ่งคาดว่าเป็นห้วงเวลาที่จะทำฝนหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันเราก็ถือโอกาสโปรยเมล็ดพันธุ์พืชในพื้นที่ที่เป็นป่า ซึ่งคนไม่สามารถเข้าไปถึงได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยาน หรือเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ดังนั้น การโปรยเมล็ดพันธุ์พืชในพื้นที่ดังกล่าวนี้ จะเป็นการสร้างความอุดมสมบูรณ์และสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าแห่งนี้ด้วย ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยในปีที่แล้วเราดำเนินการนำร่องโปรยเมล็ดพันธุ์พืชในบริเวณเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และป่าต้นน้ำในพื้นที่ภาคเหนือเป็นครั้งแรก พบว่าประสบความสำเร็จ มีการงอกของเมล็ดพันธุ์พืช และสามารถเจริญเติบโตถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ซึ่งการปฏิบัติการฝนหลวงในครั้งนี้ก็จะเป็นการเพิ่มเติมความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่าในเขตอุทยานและป่าต้นน้ำ
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนลำตะคองนั้น ต้องมีการระบายน้ำหรือกักเก็บน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนการกักเก็บน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคองก็ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรและกรมชลประทานประสานกับกระทรวงมหาดไทยและกองทัพบกให้เพิ่ม
ศักยภาพในการกักเก็บน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อน เพื่อลดการพึ่งพาจากน้ำในเขื่อน และต้องสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนที่จะใช้น้ำในบริเวณนั้นด้วย
"เป็นที่ทราบกันดีว่า อันเนื่องมาจากโครงการฝนหลวง ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานโครงการนี้ให้กับคนทั้งประเทศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนและในพื้นที่การเกษตรมาตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ปฏิบัติการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนป่า ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก หน่วยงานภาคเอกชนและประชาชนมาร่วมกันปั้นดินเพื่อห่อหุ้มเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่งและผมก็ได้สั่งการให้ปฏิบัติการฝนหลวงและโปรยเมล็ดพันธุ์พืชในพื้นที่ทั่วประเทศด้วย" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า การดำเนินการโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและเพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์ โดยเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้ รวม 14 ชนิด ได้แก่ มะค่าโมง มะค่าแต้ สีเสียดแก่น แดง สาธร พฤกษ์ ไผ่รวก กัลปพฤกษ์ กาฬฟฤกษ์ ประดู่ผล พะยูง คูน ขี้เหล็กบ้าน และนนทรีป่า ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.-30 ก.ย.60 ประกอบด้วยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภาคกลาง ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และภาคใต้ตอนบน ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากนั้นก็จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลผลการปฏิบัติการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชในแต่ละวัน แล้วจัดทำระบบฐานข้อมูล เพื่อวางแผนดำเนินการในช่วงระยะเวลาต่อไป
ส่วนกิจกรรมที่ 2 คือ กิจกรรมปลูกป่า ณ บริเวณป่าชุมชนตำบลคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พื้นที่ตำบลหนองกลับ ทุ่งทอง หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นการปลูกป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำ
http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/5194