วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เสาร์นี้ปลูกมะค่าลงดินแล้ว!!! เรื่องราวจากบล็อก sparerooom

เสาร์นี้ปลูกมะค่าลงดินแล้ว!!! 
เรื่องราวต้นมะค่าโมง และ มะค่าแต้ จากบล็อก sparerooom

เมล็ดมะค่าโมง เริ่มงอก 
ฉันเพาะเมล็ดมะค่าโมง 4 เมล็ด
ทุกเมล็ดงอกออกมารับสายฝนพรำ...
หัวใจฉันอาบรอยยิ้มอีกครั้ง...
และกล้าอายุเกือบครึ่งปีของ มะค่าแต้ และ มะค่าโมง
ฉันจะนำลงดินที่เกาะกูดในวันเสาร์ที่จะถึงนี้...


                                                ต้นกล้ามะค่าโมง                                     ต้นกล้ามะค่าแต้

ฉันมีความสุขจังเลย
ใจจริงอยากจะเอาลงดินที่กรุงเทพฯ ให้พวกเขาได้เติบใหญ่เป็นไม้สูง
คอยรักษาปอดชาวกรุง
และเป็นที่พักพิง แหล่งอาหารให้เหล่านกและแมลงต่างๆ
พร้อมเป็นร่วมเงาได้ด้วย
เกรงว่าความโหดร้ายและแร้นแค้นน้ำใจของเมืองหลวง จะพาลูกมะค่าของฉันไม่ถึงฝัน...

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ต้นกล้ามะค่าโมงลงสวน เรื่องราวของคุณอินเนียร์

ต้นกล้ามะค่าโมง...ลงสวน เรื่องราวของคุณอินเนียร์ 

        สืบเนื่องจากเคยได้หยิบนำเอาเรื่องราวของคุณแม่ น้องข้าวโอ๊ต และน้องแพรวาที่หากมีเวลามักจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นมะค่าโมง และอื่นๆ ใจดีนำมาแจกจ่ายให้กับเพื่อนๆออนไลน์เป็นประจำโดยส่วนใหญ่สามแม่ลูกจะประจำการอยู่ที่บอร์ดบ้านสวนพอเพียงดอทคอม
       วันนี้เผอิญว่าเสิร์ชเจอจึงขออนุญาตนำเอาเรื่องราวของคุณลุงอินเนียร์(อย่าโกรธกันนะครับ หุหุ ที่เรียกว่าลุงเอาเป็นว่าลดอายุให้เป็นคุณพี่อินเนียร์ก็ได้ครับ)ซึ่งเท่าที่อ่านเห็นว่าได้เมล็ดมะค่าโมงมาจากสองพี่น้อง น้องแพรวาและพี่ข้าวโอ๊ต รู้สึกว่านี่จะคือรูปภาพต้นมะค่าโมงที่คุณพี่อินเนียร์ได้จัดการเพาะงอกออกมาเป็นตัวตนต้นมะค่าโมง และได้นำไปลงปลูกภายในสวนของแกเป็นที่เรียบร้อย ลองๆอ่านกันดูครับ

เครดิตรูปภาพและเรื่องราวจาก http://www.bansuanporpeang.com/node/24409

................................................................................................................................................................................................




      รับเมล็ดมะค่าพร้อมกับน้ำพริกและอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะๆ ขอบคุณพี่ข้าวโอ๊ต น้องแพรวา คุณแม่ศิรินันท์และคุณพ่อที่เป็นธุระจัดส่งตั้งแต่มิถุนายน พอรับเมล็ดมาก็รีบจัดการตามกรรมวิธีที่ได้รับการแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ เพาะเมล็ดจนงอกแต่ก็หวุดหวิดจากหอยทากที่คอยมาแทะจึงโผล่เป็นรูปร่่าง รูปนี้ที่บ้านครับ

พอฝนมาลุงอินเนียร์ก็ค่อยๆทะยอยพาต้นข้าวโอ๊ต เอ๊ย! ไม่ใช่ ต้นมะค่าโมงของพี่ข้าวโอ๊ตไปหาตำแหน่งลงดินที่ในสวนที่ต้องหาตำแหน่งเพราะจะได้ไม่ไปบังแดดต้นไม้ที่อยู่ข้างล่างเนื่องจากต้นมะค่าโมงมีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้างจึงได้ที่ลงตามรูปครับ


วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มะค่า มะค่าโมง [รูปภาพ]

มะค่า มะค่าโมง 

ต้นมะค่าโมงอายุประมาณ 10 ปี ดูซิว่าจะโตขนาดไหน ? ไปดูกัน....

พอดีไปเจอรูปมะค่าโมง จึงเก็บตกนำมาฝากให้ดูกันสนุกๆครับ โดยต้นมะค่าโมงในรูปนั้นเห็นว่าทางวัดแห่งหนึ่งได้ปลูกและดูแลมาเป็นระยะเวลาประมาณ 10 กว่าปีเห็นจะได้ ถ้าข้อมูลไม่ผิดรู้สึกว่าจะเริ่มปลูกต้นมะค่าโมงเมื่อประมาณปี 2541 และ ถ่ายรูปตอนต้นมะค่าโตแล้วซึ่งเป็นรูปที่นำเอามาโพสต์ลงให้เพื่อนๆดูกันนี่แหละครับเป็นรูปปี 2552 ส่วนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นมะค่าโมงอาุยุประมาณ 10 ปีนิดๆนั้นจะขนาดไหนลองๆเลื่อนดูรูปภาพได้เลยฮะ










อ้างอิงแหล่งที่มารูปภาพ มะค่าโมง
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=29782.0

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คนละไม้ละมือ...โครงการเพาะกล้าไม้ ต้นกล้ามะค่าโมง ปลูกป่าอนุรักษ์ ประจำปี ๒๕๕๕ (ภาพ)

โครงการเพาะกล้าไม้ ต้นกล้ามะค่าโมง ปลูกป่าอนุรักษ์ ประจำปี ๒๕๕๕

พอดีลองๆค้นหาภาพกิจกรรมเกี่ยวกับต้นมะค่าโมง ไปเจอข้อมูลจากหน้าเว็บแห่งหนึ่งเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างจิตสำนึกดีๆโดยเฉพาะปลูกฝังให้น้องๆเยาวชนตัวน้อยได้เข้าใจถึงการอนุรักษ์และลงมือปฏิบัติทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่คัดเมล็ดมะค่าโมง กรอกดินใส่ถุงเพาะ (แอบแซวนิดนึงจากที่เห็นในรูป ซึ่งน้องๆคงไม่มีเวลาหาวัสดุเพาะที่เป็นอินทรียสารอื่นๆมาคลุกผสมร่วมด้วย อาทิเช่น แกลบดิบ เศษฟางละเอียด ปุ๋ยคอก เลยจัดหนักแบบเร็วๆเน้นดินเป็นหลัก ยังไงถ้าต้นมะค่างอกมาสักพักแล้วหาปุ๋ยคอกมาโรยให้เค้ากินบ้างนะครับน้องๆ ^-^ V ) จัดเรียงเป็นแถวด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย รอให้ต้นมะค่าโมงงอกและนำไปปลูกต่อไป

เอ้าช้าอยู่ไยไปดูภาพกันเลยครับ คาดว่าน้องๆนักเรียนทั้งเด็กผู้ชายและหญิงที่ช่วยกันเพาะมะค่าโมงจะเรียนอยู่ที่ โรงเรียนบ้านหนองเหล็ก (กองทัพบกอุปถัมภ์) มั้งครับยังไงถ้าหากออนไลน์แวะเวียนผ่านมาเจอบทความนี้ แล้วใช่เจ้าตัวที่นำภาพมาลงก็ช่วยมาคอนเฟิร์มให้เราได้รู้กันด้วย ปรบมือให้กับความตั้งใจดีๆนี้ด้วยคน









เครดิตภาพจาก http://www.thai-school.net/โครงการเพาะกล้าไม้__ต้นกล้ามะค่าโมง_ปลูกป่าอนุรักษ์_ประจำปี_๒๕๕๕-activities-ID-152090.html


วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนะนำ...การเพาะเมล็ดมะค่าโมง [เบื้องต้น]

แนะนำ...การเพาะเมล็ดมะค่าโมง [เบื้องต้น]


เท่าที่ทางผู้เขียนได้จัดทำเว็บบล๊อกเกี่ยวกับ มะค่า มะค่าโมง มะค่าแต้ เมล็ดมะค่า แห่งนี้ขึ้นมารวมถึงจากการที่ได้ลองๆค้นหาข้อมูลโดยเฉพาะคำถามข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับมะค่าโมง และ มะค่าแต้นั้น พบว่าคำถามที่ทุกคนให้ความสนใจและอยากทราบคำตอบหรือแนวทางเป็นอันดับต้นๆก็คือเมื่อได้เมล็ดมะค่ามาหรือบางท่านอาจจะสนใจถึงขนาดไปเก็บเมล็ดมะค่าจากใต้ต้นที่ร่วงมาสู่พื้นได้มาไว้ในครอบครองสมใจนึกแล้วจากนี้จะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อ...เพาะเมล็ดมะค่าโมง และ เพาะเมล็ดมะค่าแต้ ที่มีอยู่ให้งอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อนและเจริญเติบโตแข็งแรงพร้อมลงปลูกในสถานที่ต่างๆที่มุ่งหวังได้ต่อไป

จริงๆแล้วทางผู้เขียนเองก็มีความตั้งใจจะจัดทำเทคนิควิธีการ ตามประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ทดลองมาพอสมควรและคิดว่าน่าจะใช้ได้ผลดีระดับหนึ่งเลยทีเดียวเชียวหล่ะมาแชร์ให้ทุกคนที่สนใจใคร่รู้ได้นำไปเป็นแนวทางในการเพาะเมล็ดมะค่าโดยอะเอียดแต่ติดอยู่ตรงที่ว่าตอนนี้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คนั้นไม่ได้อยู่ติดตัวฝากเอาไว้ที่บ้านน้องชายและคุณแม่ แต่เพื่อไม่ให้เวลามันเนิ่นนานล่วงเลยไปโดยไม่ได้เขียนถึงหัวข้อ การเพาะเมล็ดมะค่าเสียที วันนี้เลยสลัดความขี้เกียจเรียกพลังแห่งการเขียนบทความขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งหลังจากที่ไม่ได้เขียนพิมพ์ถ่ายทอดเรื่องราวจากความรู้สึกเสียนาน เป็นที่มาของบทความชุดนี้ที่นำเสนอแนะนำ การเพาะเมล็ดมะค่าโมง เบื้องต้น(ก่อนแล้วกันนะครับ ส่วนมะค่าแต้อย่าเพิ่งน้อยใจคิดว่าอีกไม่นานจะตามมา)

เอาหล่ะครับก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเมล็ดมะค่าโมงคร่าวๆกันก่อนคิดว่าทุกคนที่สนใจคงเคยเห็นและสัมผัสเมล็ดมะค่าโมงจริงๆมากันบ้างแล้วส่วนถ้าหากใครยังไม่เคยก็ลองๆย้อนกลับไปอ่านบทความและดูรูปภาพประกอบได้ เมล็ดมะค่านั้นเมื่อเค้าผ่านการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ในฝักแล้วก็จะร่วงหล่นสู่พื้นใต้ต้นตามธรรมชาติเป็นไปตามฤดูกาลและช่วงเวลาที่เหมาะสมโดยแต่ละฝักนั้นเราไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าจะมีเมล็ดที่โตสมบูรณ์อยู่ด้านในมากน้อยเท่าไหร่แต่เท่าที่ผมเคยลองๆนับดูเอาฝักใหญ่ๆก็อาจจะมีได้ถึง 8-10 เมล็ดเลยทีเดียว บางฝักทะลุไปถึง 12 เมล็ดก็มีให้เห็นบ้างแต่นานๆที

ฝักมะค่าเมื่อแก่แล้วส่วนใหญ่เค้าจะแตกเปิดปากออกเองตามธรรมชาติและปัจจัยที่ทำให้เมล็ดมะค่าโมงและมะค่าแต้ร่วงหล่นสู่พื้นนั้นมีหลากหลาย อาทิเช่น ลมฝนที่พัดกรรโชกแรงตอนเมฆตั้งเค้าทำให้เมล็ดมะค่าร่วงได้เป็นอย่างดี หรือบางทีขั้วฝักหลังจากโดนแดดโดนฝนนานๆเข้าเค้าก็ร่วงด้วยแรง g แรงโน้มถ่วงของโลกลงมากระแทกพื้นอย่างจังส่งผลให้ฝักแตกกระจายเมล็ดมะค่ากระเด็นกระดอนไปคนละทิศละทาง เพิ่มการกระจายตัวของผืนป่าเป็นแบบนี้ก็มี และไฮไลท์อย่างหนึ่งหากใครเคยเดินไปสำรวจเก็บเมล็ดมะค่าที่ใต้ต้นจะพบเจอกับเหล่ามวลสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเค้าเป็นเพื่อนที่ดีต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและกระบวนการงอกของเมล็ดมะค่าอย่างไม่น่าเชื่อเลย หากไม่มีเค้ากระบวนการงอกตามธรรมชาติของต้นมะค่าอาจจะช้าไปเยอะไม่ทันการหรือไม่ทันฝนก็ได้ เฉลยให้ก็ได้ครับสัตว์ชนิดนี้เค้าคือ....น้องปลวกเรานี่เอง ส่วนจะเกี่ยวข้องอย่างไรขอยกยอดเอาไว้ไปเขียนเป็นบทความเฉพาะเลยเรียกว่ายกให้เป็นพระเอกนางเอก ไฟส่องหน้าสปอร์ตไลท์กันไปเลยดีกว่า

ผ่านมาหลายย่อหน้ายังไม่เข้าเรื่องเสียทีว่าแล้ววิธีการง่ายในการเพาะเมล็ดมะค่าโมง เบื้องต้นเนี่ยทำกันอย่างไร เริ่มเลยละกัน







ขั้นตอนวิธีการเพาะเมล็ดมะค่าโม เบื้องต้น

รวบรวมเมล็ดมะค่าโมง ---> สกัดขั้วพร้อมทำแผลให้ถึงเนื้อใน   โดยต้องระวังไม่ทำให้ต้นอ่อนในเมล็ดเสียหาย---> นำเมล็ดมะค่าที่ทำแผลแล้วแช่น้ำร้อน 70-80 องศาเซลเซียส(ไม่ใช่น้ำเดือด) ---> แช่เมล็ดมะค่าให้ท่วมปล่อยให้น้ำเย็นและไม่ต้องทำอะไรเพิ่มแช่ต่อไปประมาณ 32-40 ชั่วโมง ---> เมื่อเปลือกด้านนอกร่อนดีแล้วนำไปเพาะในถุงเพาะต่อไป ---> ผ่านไปประมาณ 7-10 วันจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้นมะค่าโมงเริ่มงอก

  1. หลังจากได้เมล็ดมะค่ามาแล้ว บางเมล็ดอาจจะใหม่ยังมีขั้วสีเหลืองๆหรืออาจจะไม่เหลืองเพราะซีดโดนฝนโดนแดดจนกลายเป็นน้ำตาลซีดๆ แสดงว่าผ่านการร่วงจากฝักมานานแล้วถ้าเมล็ดที่เพิ่งแก่ใหม่ๆร่วงไม่นาน ขั้วเมล็ดจะเอี่ยมอ่องสีสันเหลืองอ่อนๆสวย บางเมล็ดอาจจะได้รับการแทะจากน้องปลวกทำให้ขั้วนั้นแหว่ง หรือ ร่อนหลุดไปจากตัวเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม เหลือเพียงเมล็ดกลมๆสีน้ำตาลเข้มอย่างเดียว จะเป็นแบบไหนเรารับหมดครับถ้าไม่ลีบหรือดูผอม เมล็ดเต่งตึง ยิ่งอวบใหญ่เท่าไหร่ จัดว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ดีมีโอกาสงอกเป็นต้นมะค่าได้สูงเราเลือกเอามาไว้ในอ้อมใจเลยครับ
  2. เมื่อได้เมล็ดมะค่ามาแล้ว เราต้องมีเทคนิคในการเร่งกระบวนการงอกโดยวิธีใดๆก็แล้วแต่เพื่อทำให้เกิดรอยแผล(เก่า แต่สำหรับเมล็ดมะค่าเราจะทำแผลสดกัน) อาทิเช่น เจียด้วยเครื่องเจียจิ๋วหรือใหญ่แล้วแต่สะดวก  หรือบางคนบอกไม่มีเครื่องเจียขอใช้ตะไปฝนเอาได้ไหมผมก็คิดว่าได้นะไม่ว่ากันไม่เลือกวิธีการแต่ขอให้งานออกมาเนียนและดูดีตามเป้าประสงค์ของเราถือเป็นใช้ได้ บางท่านอาจจะบอกว่าเล่นไม่ยากใช้วิธีบ้านๆเลยคือใช้มีดพร้าสับกระเทาะตัดขั้วเมล็ดพร้อมทำให้เกิดแผลไปด้วยในคราเดียวกันเลย ซึ่งวิธีนี้ได้ผ่านการทดลองโดยผู้เขียนมาแล้ว แต่แนะนำว่าต้องระมัดระวังเพราะอาจจะไม่ใช่แต่เพียงเมล็ดมะค่าโมงเท่านั้นที่จะเกิดแผล อาจจะรวมถึงนิ้วมือที่ท่านจับเมล็ดด้วยที่จะเป็นแผลครับ สารพันวิธีที่จะทำให้เกิดแผลขึ้น แล้วทำไมต้องทำให้เกิดแผลที่ตัวเมล็ดมะค่าเหตุเพราะว่าเมล็ดมะค่าโมงนั้นด้วยตัวเมล็ดของเค้าด้านนอกจะมีเปลือกหุ้มชั้นนอกสีน้ำตาลเข้มที่เราเห็นหนาและป้องกันความชื้นจากน้ำฝนได้เป็นที่หนึ่งเลยหากเราโยนลงถาดเพาะหรือหมกในถุงเพาะเชื่อเลยว่าผ่านไปหลายเดือนบางทียังไม่สะดุ้งหรือมีทีท่าว่าจะงอกเลยหล่ะครับ จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องทำแผลให้เข้าไปถึงเนื้อในเมล็ดมะค่าโมงสีขาวเพื่อให้น้ำซึมผ่านเข้าไปได้เร่งการงอกได้เร็วขึ้นมาก จากหลายเดือนจะเหลือไม่กี่วัน 
  3. การฝนเจีย หรือ กระเทาะ ในการทำแผลให้กับเมล็ดมะค่าโมง เราต้องทำอย่างระมัดระวังโดยต้องไม่ให้ส่วนที่เป็นเอ็มบริโอหรือต้นอ่อนที่อยู่ใกล้บริเวณขั้วเมล็ดนั้นได้รับความเสียหายหรือหลุดร่อนออกไประหว่างที่เราเจียตะไป หรือ ใช้มีดพร้าฟัน นะครับ (แต่ถ้าเฉพาะขั้วเมล็ดสีเหลืองหลุดไม่เป็นไร เพราะไม่กระทบกระเทือนเอ็มบริโอ) เพราะไม่เช่นนั้นก็จบกันเมล็ดนั้นจะไม่งอกเพราะขาดส่วนสำคัญที่เป็นรหัสทางพันธุกรรมที่จะแบ่งเซลล์แทงรากออกมาและงอกเป็นต้นอ่อนนั่นเอง แนะนำให้ใช้เครื่องเจียจิ๋วหรือถ้าไม่มีลองๆไปตามร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์หรือซ่อมเครื่องยนต์และฝากให้เค้าช่วยเจียให้แต่อธิบายหรือกำกับไปพร้อมกันว่าเจียเอาพอเป็นแผลเห็นเนื้อในสีขาวและไม่ไปโดนเอ็มบริโอต้นอ่อน แผลไม่ต้องใหญ่มากให้พอไปแช่น้ำแล้วน้ำซึมเข้าได้ดีหล่ะครับ สกัดขั้วสีเหลืองๆออกด้วยจะดีมากเพราะรากเค้าจะแทงออกทางบริเวณนั้น
  4. เมื่อเราผ่านการเจียหรือตะไป หรือ ใช้มีดพร้าสับแบบ(ไม่เสียนิ้วมือไปด้วยนะครับ โฮ๊ะๆๆๆ) ก็มาถึงขึ้นตอนการนำมาเมล็ดมาแช่น้ำ โดยแนะนำหาภาชนะที่จะใช้แช่อาจจะเป็นขวดน้ำดื่ม PET ทั่วไปที่เราซื้อมาดื่มนี่แหละครับ ทำการตัดขั้วออกให้มีลักษณะเป็นแก้วน้ำ หรือใครไม่สะดวกจะใช้แก้ว หม้อ ชาม หรืออะไรก็ได้แต่ให้ใส่น้ำร้อนได้แล้วไม่ละลายเป็นพอ และตรวจดูด้วยว่าไม่มีมดแมลงหรือสัตว์ตัวน้อยอยู่ด้านในเพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่สร้างหนี้สินเวรกรรม ไม่งั้นเดี๋ยวโดนน้ำลวกตายกันหมด  ให้นำกาน้ำร้อนเสียบปลั๊กต้มน้ำเสมือนหนึ่งเราอยากชงโอวันติน หรือ กาแฟ ดื่มอย่างไงอย่างงั้นเลยเมื่อน้ำเดือดแล้วก็ทำการใส่เมล็ดลงในกระป๋องที่เราจัดเตรียม(โดยตรวจเช็คแล้วว่าไม่มีน้องมด น้องแมลงใดๆเพื่อไม่ให้เค้าต้องมาเสียชีวิตลงโดยใช่เหตุ) กดน้ำร้อน ไม่ต้องแปลกใจใช่แล้วครับ น้ำร้อนในกาต้มน้ำที่เราเพิ่งถอดปลั๊กไปนั่นแหละครับกดลงไปในแก้วที่มีเมล็ดมะค่าโมงโดยเผื่อให้ท่วมเมล็ดพอประมาณ
  5. หลักจากแช่เมล็ดด้วยน้ำร้อนที่เรากดจากกาต้มน้ำแล้ว โดยน้ำควรท่วมเมล็ดมากหน่อยเพราะเมล็ดมะค่าโมงจะดูดน้ำและพองตัวในเวลาต่อมา พอใส่น้ำร้อนแล้วไม่ต้องทำอะไรเลยครับหากระดาษหรือผ้าหรืออุปกรณ์มาปิดฝาไว้กันมดเมล็ดตกใส่แก้วมะค่าโมง หลังจากนี้เราแค่รอเวลาเท่านั้นเองให้เมล็ดมะค่าเค้าดูดดื่มน้ำไปเรื่อยๆจนหนำใจ ส่วนน้ำก็จะคลายร้อนเป็นน้ำเย็นธรรมดาก็ไม่เป็นไรครับแช่ต่อไป แต่เวลาผ่านไปอาจจะมีกลิ่นตุๆของเมล็ดมะค่าเป็นธรรมดาแนะนำให้วางไว้นอกบ้านหรือที่ที่กลิ่นจะไม่รบกวนเราได้ 
  6. หลังจากผ่านการแช่ข้ามวันข้ามคืนเมล็ดมะค่าโมงจะเริ่มอ้วนจะเริ่มพองโดยเปลือกนอกที่เราเห็นแข็งๆสีน้ำตาลเข้มนั้นจะรับน้ำไปก่อนเป็นอันดับแรกจะเริ่มร่อนยุ่ยเรียกว่าเริ่มระทวยโดยลำดับครับจากการฟิชเจอริ่งกับน้องน้ำเข้าไป รวมทั้งน้ำจะซึมผ่านแผลเข้าสู่เนื้อในไปทำให้เมล็ดด้านในเนื้อสีขาวอิ่มน้ำตามไปด้วยเรียกว่าแทรกซึมไปจนถึงทุกอณูกระตุ้นให้ต้นอ่อนที่หลับอยู่เริ่มตื่นเริ่มกระบวนการงอกขึ้นโดยลำดับ 
  7. แต่เดี๋ยวก่อนการแช่น้ำให้เมล็ดมะค่าโมงนั้นช่วยกระตุ้นการงอกในอัตราที่เร็วขึ้นก็จริงครับแต่ทุกอย่างก็มีสมดุลมากไปน้อยไปก็ส่งผลเสีย เช่นกัน เราควรนำเมล็ดมะค่าแช่น้ำพอประมาณเมื่อสมควรแก่เวลาแล้วผ่านไป 32-40 ชั่วโมง ควรนำขึ้นหรือเทน้ำทิ้งออกให้หมด ทั้งนี้ทั้งนั้นระยะเวลาอาจจะไม่ถึงกับตายตัวครับ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเอาเป็นว่าให้หมั่นมาตรวจดูว่าเปลือกนอกร่อนดีไหมร่อนครบทั้งเมล็ดหรือยัง แต่เปลือกอาจจะร่อนไม่ครบทั้งเมล็ดก็ไม่เป็นไร หรืออาจจะลองๆหยิบจากน้ำขึ้นมาบีบๆดูว่ามีความอ่อนนุ่มหยุ่นๆมือมากหรือไม่มากน้อยเพียงใดเพราะรับน้ำไปเยอะ ถ้านิ่มมากเกินแสดงว่าควรพอแล้วเพราะเวลาเรานำไปเพาะอาจจะไม่ทันงอกจะเน่าคาถุงเพาะไปเสียก่อนหน่ะซิครับ 
  8. เมื่อเมล็ดมะค่าโมงได้ที่แล้วก็นำไปเพาะในถุงเพาะชำหรือกระบะอะไรก็สุดแล้วแต่เราจะสร้างสรรค์หรือจัดหาได้ขึ้นมาครับ วัสดุเพาะก็ใช้ดินดี ผสมแกลบดิบ ปุ๋ยคอก ประมาณอัตราส่วนเท่าไหร่ก็ได้ครับเน้นให้วัสดุเพาะร่วนซุยระบายน้ำดี หรือ อาจจะเป็นแกลบดำเพียวๆคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาใช้ได้ยังไงลองๆดู แต่อยากให้มีดินและแกลบข้าวแกลบดิบ และปุ๋ย ร่วมด้วยช่วยกันจะดีกว่า 
  9. เท่านี้เราก็จะได้เห็นเมล็ดมะค่าโมงงอกสมใจแล้วครับ หมั่นรดน้ำให้ชื้นแต่อย่าบ่อยดูตามสภาพดินเพาะถ้าชื้นดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องรดเพิ่มครับ เพราะว่าเมล็ดนั้นเราแช่น้ำมาพอสมควรถ้ารดน้ำมากไปอาจจะไม่ทันงอกและเค้าจะโดนราและความชื้นเล่นงานจนเน่าคาเมล็ดไปเสียก่อน ผ่านไปสัก 3-5 วันถ้าลองๆสังเกตุดูรากจะแทงสู่ดินในถุงเพาะ ประมาณอาทิตย์หนึ่งเราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแทงรากยาวขึ้นและชูใบอ่อนให้เราขำๆตลกกับการโงหัวขึ้นชูช่อของเมล็ดมะค่าเค้าหล่ะครับ 
  10. สุดท้ายควรเผื่อใจและเผื่อความผิดพลาดว่าเราเพาะเมล็ดมะค่าโมงอาจจะไม่งอกดีทั้งหมดทุกเมล็ด อาจจะเพราะเมล็ดแต่เดิมที่เราได้มาไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือเมล็ดเค้าดูดน้ำมากไปเราแช่นานไป เผื่อเปอร์เซนต์ความผิดพลาดไว้ด้วยนะครับ ขอให้โชคดี
คิดว่าบทความนี้น่าจะพอเป็นไกด์ไลน์แนวทางในการลงมือปฏิบัติจริงในการเพาะเมล็ดมะค่าโมงได้พอสมควร มีข้อเสนอแนะติชมอย่างไรคอมเมนท์เอาไว้ท้ายบทความกันได้หวังว่าทุกคนจะมีความสุขในการเพาะเมล็ดมะค่าโมง และร่วมมือกันคนละไม้ละมือเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ธรรมชาติสืบไป

เครดิตรูปภาพ

http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=29782.0
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=67730.16

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พี่ข้าวโอ๊ต น้องแพรวา และ มะค่าโมง

พี่ข้าวโอ๊ต น้องแพรวา และต้นมะค่าโมง


รู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่ารักดี สำหรับสองศรีพี่น้อง พี่ข้าวโอ๊ตคิดว่าเป็นพี่ชาย กับน้องแพรวาน้องสาว ที่คุณแม่ซึ่งมีจิตใจรักต้นไม้ รวมถึงต้นมะค่าโมง อยากจะเผื่อแผ่แบ่งปันเมล็ดมะค่าโมงให้กับผู้ที่ชื่นชอบและสนใจผ่านทางเว็บไซต์เกษตรพอเพียง เห็นแล้วจึงอดไม่ได้ที่จะปลื้มใจและแอบยิ้มเล็กๆให้กับความน่ารักของสามแม่ลูก โดยเฉพาะคุณแม่ของน้องทั้งสองคนที่มีวิธีในการสอนลูก ปลูกฝังให้รักธรรมชาติเข้าใจถึงคุณค่าในการปลูกต้นไม้ วิธีการแบบนี้ทำให้เด็กๆนั้นได้ซึมซับเอาเรื่องราวต่างๆที่ดีและมีอยู่แล้วรอบตัวไปเองโดยที่เค้าไม่รู้สึกว่าต้องมานั่งเคร่งเครียดแต่อย่างใดแถมสนุกอีกต่างหาก

การเรียนรู้โดยลงมือทำจริงผ่านการติดตามคุณแม่ไปเที่ยวชมธรรมชาติ ลงมือเก็บเมล็ดมะค่าโมงเพื่อนำมาแจกจ่ายด้วยตนเอง รวมถึงลงมือเพาะเมล็ดต้นมะค่าโมงทำให้เค้าได้สัมผัสจริงกับธรรมชาติและกระบวนการการเติบใหญ่ของต้นไม้ไปโดยปริยาย เสมือนหนึ่งยกห้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มาไว้ที่บ้านอย่างไงอย่างงั้น สร้างความเพลิดเพลินอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างน่าปรบมือให้ซึ่งผมคิดว่าหากคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงญาติผู้ใหญ่ครอบครัวใดจะใช้วิธีนี้ในการนำพาหนูน้อยที่จะเติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญในอนาคตให้เค้าได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่งเกี่ยวกับธรรมชาติก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆและคิดว่าไม่เกินกำลังที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะทำได้อย่างแน่นอน

จึงขอเก็บเกร็ดเรื่องราวเล็กๆน้อยเกี่ยวกับต้นมะค่าโมง ไปชมภาพที่ทางบล๊อกขอนำมาลงเพื่อเป็นวิทยาทานให้ทุกคนที่สนใจและชอบต้นมะค่าได้ดูเพลินนะครับ คงไม่ว่ากันนะจ๊ะ คุณแม่ และ นายแบบ นางแบบ หนูน้อยของเรา พี่ข้าวโอ๊ต น้องแพรวา และต้นมะค่าโมง หวังว่าต้นมะค่าของน้องๆจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาไปพร้อมๆกับข้าวโอ๊ตและน้องแพรวาที่ซึ่งพื้นที่ความทรงจำดีๆเล็กๆส่วนหนึ่งในหัวใจของเค้าทั้งสองได้มีกล้ามะค่าน้อยเติบโตอยู่ตลอดกาล









เครดิตรูปภาพ  http://www.bansuanporpeang.com/node/22753


วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เมล็ดมะค่าอ่อน ของโปรดลิงป่า

มะค่า ---> มากค่า มากคุณค่า

วันนี้นำเอาเรื่องราวของเพื่อนๆที่แชร์ประสบการณ์ดีๆเกี่ยวกับ มะค่า มะค่าโมง ให้สมดั่งคำพ้องที่ว่า มะค่า นั้น มากค่า มีคุณค่าเหลือเกิน โดยความน่าสนใจอยู่ที่เป็นสิ่งที่ผู้เล่าเรื่องราวผ่านหน้าบล๊อกของเค้า(และเราไปแอบขอนำมาโพสต์ให้เพื่อนๆได้อ่านอีกทอด) ได้เดินทางล่องไพรสู่ผืนป่าพบเจอสัมผัสกับเหตุการณ์จริงที่อิงเอื้ออาศัยกันและกันระหว่างต้นไม้ในป่าเขาลำเนาไพร ที่ต่างก็เอื้ออาทรอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลมาเนิ่นนานโดยสัตว์น้อยใหญ่นั้นก็อาศัยร่มเงาความชุ่มชื้นจากป่าไม้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งที่พักพิงและเป็นแหล่งอาหาร ส่วนต้นไม้นั้นเชื่อแน่ว่าต้องได้ประโยชน์จากสัตว์น้อยใหญ่ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเชื่อมโยงกันเป็นสายใยที่บางทีเราเองก็ยากที่แยกแยะและทำความเข้าใจในการเกื้อกูลกันในห่วงโซ่ที่ซับซ้อน

เพราะฉะนั้นเรื่องราวเล็กๆระหว่างเจ้าลิงป่า และ ต้นมะค่าโมง ที่เราจะขอหยิบยกนำเอาบทที่มีเพื่อนๆในโลกออนไลน์เขียนเอาไว้นำเสนอในวันนี้ก็เพื่อที่จะย้ำเตือนย้อนให้เราตระหนักอย่างจริงจังถึงความเป็นส่วนหนึ่งว่าตัวเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆของธรรมชาติมิใช่ทุกอย่าง

เพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจรวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เราเข้าใจว่าเราควบคุมธรรมชาติและสามารถทำได้ทุกอย่างบนโลกใบนี้โดยมิได้คิดถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะตามมาแปรเปลี่ยนเป็นอยู่อย่างมีธรรมะอ่อนน้อมถ่อมตนให้ความเคารพต่อธรรมชาติเหตุเพราะตัวเราก็คือธรรมและธรรมชาติก็คือเรา ถ้าหากทำได้เช่นนี้แล้วก็ย่อมที่จะน้อมนำให้เราเข้าถึงความล้ำค่าของสิ่งอยู่ที่อยู่รอบตัวเราได้อย่างแน่นอน

...................................................................................................................................................................

มล็ดมะค่าอ่อนกินได้ คุณเคยลองหรือยัง?

ครั้งหนึ่งระหว่างเดินป่า ฝูงลิงป่าทำให้ผมมีโอกาสได้ชิม เหล่าลิงกำลังแกะฝักมะค่า
เพื่อที่จะกินเมล็ดข้างใน ขณะผมเดินเข้าใกล้ ฝูงลิงรู้ตัวว่ามีภัยมาก็พากันหนี
พวกมันกระโจนไปตามยอดไม้ เสียงดังโครมคราม โดยทิ้งฝักมะค่า ไว้เกลื่อนพื้น
เมื่อหยิบขึ้นดู ตรงขอบฝักมีรอยกัดแทะ ฉีกทึ้ง เปลือกเปิดเผยอขึ้น มองเห็นด้านในสีขาว
แต่ไม่ถึงเนื้อใน 


ลิงป่ายังไม่ทันได้ลิ้มรสเนื้อมะค่าอ่อน แสดงว่าผมเข้ามาขัดจังหวะการกินของพวกมัน
ฝักมะค่าอ่อนสีเขียวสด แต่เปลือกแข็ง และเหนียว น่าทึ่งที่ฟันอันแหลมคม กับพลังในการฉีกดึง
ของมันสามารถแกะเปลือกแข็งๆได้โดยปราศจากเครื่องทุ่นแรงใดๆ

ลำพังมนุษย์ใช้มีดพับที่คมกริบก็ยังยากที่จะเฉือนเข้า

เมื่อแบะเปลือกออกได้ (ซึ่งใช้เวลาพอสมควร) ภายในฝักจะมีเมล็ดอ่อนสีขาวเรียงตัวเป็นแถว
ตามแนวยาวของฝัก
 เมล็ดมะค่าอ่อน มีรสชาติหวานมัน กรอบอร่อย
แต่จะฝาด หากกินโดยไม่แกะเปลือกนอกที่หุ้มเมล็ดทิ้งไป หลังจากได้ลอง ผมฟันธงได้เลยว่า
พวกลิง กับสัตว์ป่าอีกหลายชนิด คงชอบกินเมล็ดมะค่ามาก
และคิดว่าพวกมันก็คงเห็นด้วยกับผมเป็นแน่ เพราะสัตว์ป่ากับผมมีรสนิยมคล้ายกัน! (ฮา)

ฝักอ่อนของมะค่าเกิดขึ้นราวๆเดือนสิงหา
แต่หากย้อนไป มะค่าจะออกดอกสะพรั่งประมาณเดือนเมษา จากนั้นจะร่วงหล่นเต็มพื้น
เป็นอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด แต่ที่ชื่นชอบดอกมะค่าเป็นพิเศษคือ อีเก้ง



ร่องรอยของเจ้าลิงป่าพยายามจะแกะกินเมล็ด (ที่อยู่ด้านในฝักมะค่าโมง)

ภายในฝักมะค่าที่ถูกแบะออก  เม็ดสีขาวคือส่วนที่กินได้
...............


นุษย์ตัดไม้เนื้อดีแทบหมดป่า หนึ่งในนั้นคือ ต้นมะค่า
มาถึงวันนี้กลับมีความคิดที่จะปลูกมันขึ้นใหม่เพื่อทดแทน
      
การยิงเมล็ดมะค่าด้วยหนังสติ๊ก ให้เมล็ดตกลงดิน ปล่อยงอกขึ้นเองตามยถากรรม
ในป่าเสื่อมโทรม นับเป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อช่วยปลูกป่า แต่กว่าเจ้ามะค่าน้อยๆจะงอกขึ้นเป็นต้นกล้า 
ต้องรอเวลาที่เหมาะสม อาจนานเป็นหลายๆปีก็เป็นได้ เมล็ดแก่ของมะค่าโมงเปลือกแข็งมาก
ขึ้นเองยาก ถ้ามีสัตว์ หรือแมลงปากแข็งๆ มากัดแทะ มันจะโชคดี ทำให้ต้นอ่อนมีช่อง
ที่จะแทงยอดเจริญพันธุ์ได้ ถึงแม้งอกยาก แต่ต้นมะค่าโตแล้ว ตายยาก
เพราะทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ไม่เช่นนั้น ก่อนนำไปขยายพันธุ์ ต้องทำการขูดปลายเมล็ด
เพื่อเปิดช่องให้ต้นกล้าแทงออกได้ง่ายขึ้น หรือจะเอาไปเผาไฟ ก่อนนำไปแช่น้ำ 
เมล็ดจะอวบอิ่มพร้อมเจริญเติบโต

...............


ถ้าพูดถึงไม้ในป่าชั้นดี ทั้งสัก เต็ง แดง ประดู่ ฯลฯ ก็ยังมี 'ต้นมะค่า' 
อีกชนิดหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง
มะค่าเป็นไม้ยืนต้น สูงใหญ่ถึง 20-30 เมตร มีใบประกอบแบบขนนกคล้ายใบประดู่

มะค่า มะค่าโมง มะค่าใหญ่ หรือมะค่าหลวง เป็นไม้เนื้อแข็งเหนียว ทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี
จึงนิยมใช้ทำเสา รอด ตง พื้นไม้ เครื่องบน ต่อเรือ เครื่องกลึง พานท้ายปืน รางปืน
รวมถึงใช้ทำกลองโทน รำมะนา ฯลฯ ส่วนเปลือกใช้ทำน้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง เป็นต้น

'มะค่า' สอดคล้องกับคำว่า 'มีค่า' โดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม
แต่แน่นอนว่า มันเป็นไม้มีราคาสมชื่ออย่างแท้จริง เพราะในป่าเหลือน้อยลงเต็มที
ทำให้มีค่าดั่ง 'ทอง' หนำซ้ำ ลวดลาย และเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง
และคนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าสวยงาม

แปลก...ที่มนุษย์ชอบชื่นชมความงามจากสิ่งที่ตายไปแล้ว 

แต่กลับมองไม่เห็นคุณค่าขณะมันมีชีวิต
ว่าเอื้อประโยชน์กับชีวิตอื่นๆได้มากมาย ไปอีกนานแสนนาน...
อุปโภคทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างพอเพียงเถอะครับพี่น้อง!

แหล่งที่มาของบทความ
http://junglehome.multiply.com/journal/item/28/28

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มะค่าแต้ มะค่าหนาม [รูปภาพ]

วันนี้มีโอกาสเข้ามาอัพเดทข้อมูลภาพในบล๊อก มะค่า มะค่าโมง มะค่าแต้ จริงๆแล้วผู้เขียนมีความคิดว่าจะนำเอาบทความใหม่มาลงเพิ่มแต่ด้วยว่าช่วงนี้มีเรื่องราวให้ต้องจัดการหลายอย่างซึ่งติดพันมาจากช่วงประมาณปลายเดือนที่แล้ว จึงยังไม่ได้นั่งนิ่งๆให้รวบรวมเรื่องราวต่อไปที่อยากจะลงมือเขียนอย่างจริงๆจังเสียที ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีโน๊ตเอาไว้ในหัีวบันทึกเอาไว้ในใจว่าอืมอยากจะลงมือเขียนบทความเกี่ยวกับมะค่าเรื่องใหม่เป็นเรื่องอะไรดี แต่สัญญาว่าถ้าเสร็จเมื่อไหร่จะนำมาลงให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกๆท่านที่สนใจได้อ่านกันอย่างแน่นอน และที่สำคัญย่อมต้องเป็นบทความที่เป็นประโยชน์และต่อเนื่องจากความเดิมที่ผ่านมาอีกทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างแน่นอน แย้มเอาไว้ให้เห็นนิดๆพอให้เดากันเล่นก็ได้ว่าจะเป็นเรื่องราวของเมล็ดมะค่า รวมถึงเทคนิคดีๆที่ทางผู้เขียนได้มีโอกาสไปซุ่มทดลองมาเองกับมือส่วนจะเป็นทริคเล็กๆเกี่ยวกับอะไรนั้นแวะเวียนมาติดตามกันบ้างนะครับ

ดอกมะค่าแต้

ต้นกล้ามะค่าแต้ เพาะจากเมล็ด ปลายใบจะกลมมน

ต้นอ่อน มะค่าแต้ งอกเองจากผืนดินตามธรรมชาติ


มะค่าแต้ โตเต็มที่สูงใหญ่


เพื่อให้หายคิดถึง (ซึ่งจริงๆแล้วจะมีใครเข้ามาอ่านและคิดถึงกันบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ตู่เอาเองฮะว่ายังนึกถึงกัน) จึงพยายามเสิร์ชและรวบรวมเอารูปภาพของ มะค่าแต้ หรือ มะค่าหนาม ในหลากหลายมุมมองที่เพื่อนๆในอินเตอร์เนทได้ถ่ายและแชร์ไว้ ซึ่งก็ขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วยหากไม่ได้ลงให้เครคิตอย่างเต็มรูปแบบเพราะเยอะมากหลายรูปและเซฟไปก็ลืมบันทึก URL ไม่ว่ากันนะครับ

ฝากข้อสังเกตุเล็กน้อยเอาไว้สำหรับทุกคนที่สนใจ และสงสัย ว่าข้อแตกต่างเบื้องต้นระหว่าง *มะค่าโมง (มะค่าหลวง) กับ *มะค่าแต้(มะค่าหนาม) นั้นอยู่ตรงไหนบ้าง จุดสังเกตุและฟันธงลงไปได้เลยง่ายคือ


1. มะค่าหนามชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า หนาม เพราะฉะนั้นเค้าจะหนามเล็กๆขึ้นพอเป็นพิธีอยู่บนฝักแต่ไม่ถึงกับแหลมเหมือนหนามชะอมหรือหนามมะขามเทศ
2. มะค่าแต้ หรือ มะค่าหนาม รูปร่างทางกายภาพของใบนั้นจะแตกต่างจากมะค่าโมง โดยมะค่าแต้ใบจะมีลักษณะกลมปลายของใบกลมไม่แหลมเหมือนมะค่าโมงนั่นเอง
3. ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆนั้นมีอีกมากที่แตกต่างกัน ทั้งลักษณะของลำต้น เปลือกนอกล้ำต้น ฟอร์มทรงพุ่มของต้นเมื่อโตเต็มที่  รวมถึงขนาดของเมล็ดด้วยโดยมะค่าแต้หรือมะค่าหนามจะมีขนาดของเมล็ดนั้นเล็กกว่ามะค่าโมง และเมล็ดมะค่าแ้ต้จะออกไปในลักษณะกลมมนกว่า

เอาเป็นว่าฝากความรู้เล็กๆไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะครับแล้วเจอกันใหม่ ดูรูปมะค่าแต้ หรือ มะค่าหนาม เล่นๆไปพลางก่อน บาย


วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

มะค่าโมง มหัศจรรย์เหมันตฤดู ผลัดใบเปลี่ยนผ่าน...เพื่อรอการผลิบานช่อดอกใหม่

มะค่าโมง ผลัดใบเปลี่ยนผ่าน เพื่อรอการผลิบานช่อดอกใหม่



เมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวประมาณปลายเดือนธันวาคม เดินทางสู่เดือนมกราคม และไล่ไปเรื่อยจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดกับต้นมะค่าโมง จากที่เคยเขียวชอุ่มใบเขียวเต็มต้นสังเคราะห์แสงรับความชื้นมาอย่างเต็มที่หลายฝน ก็เริ่มเข้าสู่วงจรการพักตัวจะเห็นได้ว่า...ต้นมะค่าโมง ทุกต้นเหมือนส่งสัญญาณหากัน โหมดการผลัดใบเริ่มทำงานอย่างเต็มตัว การทิ้งใบที่เคยเป็นแหล่งรับแสงและสังเคราะห์อาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของตัวเค้าเองนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนโกร๋นไปหมดทั้งต้น

ถ้าคุยกันรู้เรื่องผมคงอยากจะแอบถามว่า พี่ต้นมะค่าโมงจะไม่มีกะใจที่จะเหลืออาภรณ์ใบไม้ติดเอาไว้สักนิดเลยเหรอหรือว่านี่คืองานศิลป์แห่งธรรมชาติที่พี่ต้นมะค่ามอบให้เราเชยชมเฉพาะกาล ถึงจะถามผ่านสายลมเหมันต์ไปเท่าไหร่ก็คงไม่มีประโยชน์เพราะคำตอบนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้นมะค่าโมงจะทิ้งใบเค้าเคยใช้มานั้นกลับคืนแ่ก่ผืนดินไปทั้งหมดเหมือนเป็นการเคารพซึ่งกันและกันของธรรมชาติอีกทั้งทำให้ผู้เขียนคิดและสะกิดใจให้ย้อนไปนึกถึงโศลกของเซ็นที่มักจะแฝงเร้นบอกกล่าวถึงหลักธรรมอย่างแยบคายเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยวางเพื่อเราจะได้มีที่ว่างเพียงพอในการรับสิ่งใหม่ นี่กระมังคงเป็นปริศนาธรรมที่ต้นมะค่าโมงก็ได้บอกกล่าวเอาไว้ผ่านเรื่องราวแห่งกาลเวลาอยู่ที่ว่าเราหลายคนจะสงบใจและเก็บเกี่ยวนำมาใส่จิตหรือไม่ ??? (สักนิดก็ยังดี)

ความน่าสนใจยังไม่หมดแค่นั้นหลังจาก...ต้นมะค่าโมง ผลัดใบยืนต้นตระหง่านเหลือเพียงกิ่งก้าน ผมก็ได้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ที่มาพร้อมกับความสดใสของใบอ่อนที่เริ่มแตกยอดชูช่อ แทงออกมาจากกิ่งก้านที่แห้งดูเหมือนจะยืนต้นตายไปแล้วเมื่อเดือนก่อนนี่เอง ใบอ่อนของยอดมะค่าโมงช่วยกันละเลงสีสันจนละลานตาเต็มต้นไปหมดมองไปทางไหนก็เห็นเฉดสีที่ออกแดงคล้ำอมม่วงทำให้ผมนึกถึงสีของน้ำองุ่นหรือน้ำทับทิม อย่างไงอย่างงั้นถึงแม้อาจจะอธิบายให้เห็นภาพได้ยากแต่คิดว่าก็คงใกล้เคีียงกันมากหล่ะ


พอเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์เหมือนต้นมะค่าโมงเค้าก็จะรับรู้และร่วมยินดีไปกับเดือนแห่งความรักด้วยเช่นกันโดยได้มอบสิ่งดีๆใหม่ให้กับโลกใบนี้เป็นช่อดอกอ่อนๆ แทงช่อดอกกันอย่างสะพรั่งเห็นเป็นตุ่มสีเขียวอ่อนเล็กๆมากมายเต็มต้นไปหมด ทำให้ผู้เขียนอยากรู้ว่าถ้าลองโน้มกิ่งช่อดอกมาดมดูจะมีกลิ่นหอมโชยออกมาจากเกสรที่ยังบานไม่เต็มที่ไหมหนอ แต่ก็ได้แค่คิดเพราะแต่ละช่อดอกเล่นแทงช่อสูงเหลือเกินยิ่งสูงยิ่งแข่งกันเหมือนกับเค้าก็จะรู้ว่าถ้าขืนผลิดอกในกิ่งต่ำๆอาจจะได้รับอันตรายจากมือมนุษย์แน่นอน แต่ถึงจะสูงแค่ไหนก็ยังมีแขกไปเยี่ยมเยียนเป็นน้องผีเสื้อตัวจิ๋วบ้างใหญ่บ้างผลัดเปลี่ยนกันไปบินวนเล่นเกาะช่อดอกโน้นบ้างนี่บ้างอย่างสนุกสนาน

หรือนี่จะเป็นสัญญาณของการเตรียมตัวของพรรณไม้นานาพันธุ์ที่เตรียมตัวรับหน้าร้อนที่กำลังจะมาถึงและอดทนอีกแค่อึดใจเดียวเพื่อผ่านเข้าสู่หน้าฝนอันชุ่มช่ำเพื่อติดฝักตกเมล็ดขยายพันธุ์กันต่อไปอีกคำรบหนึ่ง

เรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับ มะค่า ต้นมะค่า มะค่าโมง มะค่าแต้ เมล็ดมะค่า 
เครดิตรูปภาพ ต้นมะค่าโมงผลิใบอ่อน สีแดงระเรื่อ โดยธงชัย เปาอินทร์

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มะค่า กับ วรรณคดีนิราศเมืองแกลง ท่านสุนทรภู่

มะค่า ต้นมะค่า มิเพียงแต่มีคุณค่าต่อเรามาช้านานทั้งให้เราอาศัยร่มเงาพักอาศัยบดบังไอแดดร้อนผ่าวในยามเดินทางหรือออกไปทำงาน หรือทำนาตามท้ายไร่ปลายทุ่ง หากได้นั่งพักผ่อนเอาแรงรับประทานอาหารในยามเที่ยงเอนหลังไปจนถึงบ่ายแก่ก็พอจะได้หายใจหายคอมีแรงกำลังที่จะออกมาทำโน่นทำนี่ต่อจากงานที่ทำค้างไว้ในยามเช้า

เมื่อพอมีเวลาทางเจ้าของบทความก็ได้มีโอกาสลองค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเผื่อว่าจะได้พบกับเรื่องราวเกี่ยวกับ มะค่า ต้นมะค่า อื่นๆที่น่าสนใจ วันนี้จึงได้กลับมาอัพเดทบล๊อกอีกครั้งหนึ่งเลยถือโอกาสหยิบยกเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของต้นมะค่าในงานเขียนคราวนี้ขอย้อนกลับไปถึงสมัยเมื่อหลายร้อยปีก่อนต้นกรุงรัตนโกสินทร์กันเลยทีเดียวเป็นผลงานที่ฝากเอาไว้ให้กับลูกหลานชาวสยามอย่างเราๆของท่านสุนทรภู่ ผลงานชิ้นนี้คือ นิราศเมืองแกลง นิราศเมืองแกลง เป็นผลงานกวีนิพนธ์แบบกลอนประพันธ์โดยสุนทรภู่ เป็นนิราศเรื่องแรกของเขาที่ได้แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2349 มีใจความกล่าวถึงการเดินทางโดยเรือเพื่อไปยังเมืองแกลง โดยมีศิษย์ 2 คนร่วมโดยสารไปด้วยกัน คือ น้อยกับพุ่ม และมีผู้นำทางชื่อนายแสง เป้าหมายการเดินทางของสุนทรภู่ไม่ปรากฏแน่ชัด บ้างว่าเขาต้องการไปบวชกับบิดา บ้างว่าเขาเดินทางไปขอเงินเพื่อกลับมาแต่งงาน นักวิชาการยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าสุนทรภู่กลับไปทำไม แต่ทางจังหวัดระยองได้นำเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นไปสร้างเป็นอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่เมืองแกลง


จริงๆแล้วนิราศเมืองแกลงมีความยาวอยู่พอสมควรหากท่านใดสนใจก็สามารถลองเสิร์ชหาก็จะพบเพื่ออ่านได้โดยง่าย แต่วันนี้จะขอหยิบยกเอาบางช่วงบางตอนเอามาไว้พอเป็นน้ำจิ้มสักเล็กน้อยโดยเฉพาะตอนที่ทางสุนทรภู่ได้พรรณนาถึงพรรณไม้ชนิดต่างหลากหลายโดยหนึ่งในนั้นก็กล่าวถึงต้นมะค่าเอาไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งไม้มะค่าเป็นต้นไม้ที่ปรากฏในนิราศเมืองแกลง ซึ่งเป็นผลงานของท่านสุนทรภู่ ซึ่งท่านได้ประพันธ์เกี่ยวกับต้นมะค่า มีความว่า

                   เห็นพฤกษาไม้มะค่ามะขามข่อย ทั้งไทรย้อยยอดโยนโดนตะโขง
        เหมือนไม้ดัดจัดวางข้างพระโรง เป็นพุ่มโพรงสาขาน่าเสียดาย  

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เรื่องราวต้นมะค่า ที่บ้านหนองมะค่า

มะค่า มะค่าโมง เมล็ดมะค่าโมง เพาะเมล็ดมะค่า


บ้านหนองมะค่า เริ่มมีร่องรอยต้นมะค่า

ใครจะช่วยตอบได้ว่าที่ ไร่ทอสี ของคุณยายทอสี สวัสดิ์-ชูโต ตั้งอยู่ที่บ้านหนองมะค่า ห่างจากปัญญาประทีป ประมาณ ๒ กิโลเมตร ในพื้นที่ร่วม ๕๐๐ ไร่ ทำไมจึงมีต้นมะค่าใหญ่คนโอบไม่รอบ อยู่เพียงต้นเดียวโดดเดี่ยวเดียวดายจริงๆ ???
ถึงไม่รู้คำตอบ เราในฐานะอนุชนรุ่นหลังก็ควรขอบพระคุณบรรพบุรุษ ที่ปลูกไว้ให้ และขอบคุณผู้ที่ละเว้นไม่ได้โค่นต้นนี้  และให้โอกาสแก่เราในการใช้ต้นนี้เป็นแม่พันธุ์

คณะครูที่มาบุกเบิกพื้นที่ปัญญาประทีปทราบเพียงว่าพื้นที่แถบนี้เป็นส่วนหนึ่งของคงพญาไฟในอดีต ซึ่งเป็นป่ารกชัฏ เต็มไปด้วยโรคและสัตว์ป่า และต้นไม้นานาพรรณ และน่าจะมีต้นมะค่าอยู่ไม่น้อย จึงมีชื่อว่าหนองมะค่า แต่ตอนที่คุณยายได้ที่ดินนี้มา พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นไร่ข้าวโพดไร้ร่องรอยของความเป็นป่ารกชัฏ พวกเราจึงตั้งปณิธานว่าเราจะช่วยกันเพาะพันธุ์ต้นมะค่าจากต้นแม่ที่เหลือเพียงหนึ่งเดียว ให้มีต้นมะค่าให้มากพอที่จะสมกับชื่อของหมู่บ้าน

เราได้เริ่มเพาะพันธุ์ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙  และได้นำไปแจกจ่ายแล้วนับพันต้น โดยในระยะแรกทีมครูที่โรงเรียนทอสีได้ให้เด็กนักเรียนอนุบาลและประถมช่วยกันเพาะ และนำไปแจกในงานเทศกาลทางศาสนาที่วัดญาณเวศกวัน ในโอกาสที่ไปกราบท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)

เมื่อคุณยายทอสีมอบที่ดินที่ปัญญาประทีปให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนมัธยม เราจึงเร่งเพาะพันธุ์ต้นมะค่าจากแม่พันธุ์ต้นเดียวกันที่ไร่ทอสีเพื่อปลูกที่ปัญญาประทีปอีกด้วย ในปัจจุบันนักเรียนปัญญาประทีปช่วยกันเพาะได้อีกหลายพันต้น และปลูกที่ปัญญาประทีปหลายร้อยต้น เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในระยะที่เราได้ข่าวเกี่ยวกับการขยายถนนธนะรัชต์ขึ้นเขาใหญ่ และมีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ชาวปัญญาประทีปก็มีโอกาสได้มอบต้นมะค่าประมาณ ๕๐ ต้นให้กับชาวบ้านที่เขาใหญ่ที่ต้องการไม้ป่าไปปลูกทดแทนต้นที่ถูกโค่น



ถึงแม้ต้นไม้ที่เรามอบให้จะมีขนาดเล็กน้อยนิด อายุยังไม่ถึง ๑ ขวบ ถ้าเป็นค้นก็เปรียบเหมือนทารกน้อย แต่ก็เป็นต้นมะค่าที่ทรงคุณค่าในหัวใจของเราชาวปัญญาประทีป เราปลื้มใจที่มีโอกาสมีส่วนช่วยปลูกป่า ช่วยลดโลกร้อน แม้จะน้อยนิด เทียบกับความรุนแรงของปัญหาในปัจจุบัน

ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับต้นมะค่าโมง และทำให้เราได้รู้ว่าอย่างน้อยก็ยังมีพลังของคนรุ่นใหม่ๆที่เห็นคุณค่าของต้นมะค่า ที่อยู่คู่กับคนไทยเรามานานนม

อ้างอิงถึงแหล่งที่มาของบทความ จาก ปัญญาประทีบ