วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เรื่องราวต้นมะค่า ที่บ้านหนองมะค่า

มะค่า มะค่าโมง เมล็ดมะค่าโมง เพาะเมล็ดมะค่า


บ้านหนองมะค่า เริ่มมีร่องรอยต้นมะค่า

ใครจะช่วยตอบได้ว่าที่ ไร่ทอสี ของคุณยายทอสี สวัสดิ์-ชูโต ตั้งอยู่ที่บ้านหนองมะค่า ห่างจากปัญญาประทีป ประมาณ ๒ กิโลเมตร ในพื้นที่ร่วม ๕๐๐ ไร่ ทำไมจึงมีต้นมะค่าใหญ่คนโอบไม่รอบ อยู่เพียงต้นเดียวโดดเดี่ยวเดียวดายจริงๆ ???
ถึงไม่รู้คำตอบ เราในฐานะอนุชนรุ่นหลังก็ควรขอบพระคุณบรรพบุรุษ ที่ปลูกไว้ให้ และขอบคุณผู้ที่ละเว้นไม่ได้โค่นต้นนี้  และให้โอกาสแก่เราในการใช้ต้นนี้เป็นแม่พันธุ์

คณะครูที่มาบุกเบิกพื้นที่ปัญญาประทีปทราบเพียงว่าพื้นที่แถบนี้เป็นส่วนหนึ่งของคงพญาไฟในอดีต ซึ่งเป็นป่ารกชัฏ เต็มไปด้วยโรคและสัตว์ป่า และต้นไม้นานาพรรณ และน่าจะมีต้นมะค่าอยู่ไม่น้อย จึงมีชื่อว่าหนองมะค่า แต่ตอนที่คุณยายได้ที่ดินนี้มา พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นไร่ข้าวโพดไร้ร่องรอยของความเป็นป่ารกชัฏ พวกเราจึงตั้งปณิธานว่าเราจะช่วยกันเพาะพันธุ์ต้นมะค่าจากต้นแม่ที่เหลือเพียงหนึ่งเดียว ให้มีต้นมะค่าให้มากพอที่จะสมกับชื่อของหมู่บ้าน

เราได้เริ่มเพาะพันธุ์ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙  และได้นำไปแจกจ่ายแล้วนับพันต้น โดยในระยะแรกทีมครูที่โรงเรียนทอสีได้ให้เด็กนักเรียนอนุบาลและประถมช่วยกันเพาะ และนำไปแจกในงานเทศกาลทางศาสนาที่วัดญาณเวศกวัน ในโอกาสที่ไปกราบท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)

เมื่อคุณยายทอสีมอบที่ดินที่ปัญญาประทีปให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนมัธยม เราจึงเร่งเพาะพันธุ์ต้นมะค่าจากแม่พันธุ์ต้นเดียวกันที่ไร่ทอสีเพื่อปลูกที่ปัญญาประทีปอีกด้วย ในปัจจุบันนักเรียนปัญญาประทีปช่วยกันเพาะได้อีกหลายพันต้น และปลูกที่ปัญญาประทีปหลายร้อยต้น เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในระยะที่เราได้ข่าวเกี่ยวกับการขยายถนนธนะรัชต์ขึ้นเขาใหญ่ และมีการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ชาวปัญญาประทีปก็มีโอกาสได้มอบต้นมะค่าประมาณ ๕๐ ต้นให้กับชาวบ้านที่เขาใหญ่ที่ต้องการไม้ป่าไปปลูกทดแทนต้นที่ถูกโค่น



ถึงแม้ต้นไม้ที่เรามอบให้จะมีขนาดเล็กน้อยนิด อายุยังไม่ถึง ๑ ขวบ ถ้าเป็นค้นก็เปรียบเหมือนทารกน้อย แต่ก็เป็นต้นมะค่าที่ทรงคุณค่าในหัวใจของเราชาวปัญญาประทีป เราปลื้มใจที่มีโอกาสมีส่วนช่วยปลูกป่า ช่วยลดโลกร้อน แม้จะน้อยนิด เทียบกับความรุนแรงของปัญหาในปัจจุบัน

ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับต้นมะค่าโมง และทำให้เราได้รู้ว่าอย่างน้อยก็ยังมีพลังของคนรุ่นใหม่ๆที่เห็นคุณค่าของต้นมะค่า ที่อยู่คู่กับคนไทยเรามานานนม

อ้างอิงถึงแหล่งที่มาของบทความ จาก ปัญญาประทีบ

1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าไม่ช่วยกันบ่มเพาะขยายพันธ์ุ ไม่้ยากชนิดนี้ก็จะต้องสูญพันธ์ุ แน่ๆ ที่โรงเรียนก็มีตั้ง 3 ต้น แต่ไม่โตมาก ท่านผอ ก็ไม่เคยบอกว่าจะตัดทิ้งสักที เพราะมีมาพร้อมกับการก่อตั้งโรงเรียน เป็นต้น มีค่า จริงๆ ค่ะ

    ตอบลบ