วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มะค่าแต้ (มะค่าหนาม) การรู้จักกันโดยบังเอิญ





มะค่าแต้



พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลจังหวัดสุรินทร์

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sindora siamensis Teijsm. ex Miq.


วงศ์ LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE


ชื่ออื่น แต้ มะค่าหนาม มะค่าหยุม


มะค่าแต้ หรือมีชื่อเล่นว่า มะค่าหนาม ตอนแรกผู้เขียนก็เกิดความฉงนสงสัยเมื่อครั้งได้ข้อมูลมาว่านอกจากมะค่าโมง หรือมะค่าหลวง ที่เราพบเห็นกันทั่วไปแต่ปัจจุบันก็ลดจำนวนลงเหนือน้อยเต็มที่แล้วก็ยังมีสายพันธุ์ต้นมะค่าอีกชนิดหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกับมะค่าโมงนั่นก็คือ มะค่าแต้ หรือบางท่านอาจจะรู้จักในชื่อ มะค่าหนาม

ครั้นพอได้ยินชื่่อ มะค่าแต้ หรือ มะค่าหนาม ก็สร้างความฉงนสงสัยและปนความอยากรู้อยากเห็นให้กับผู้เขียนเป็นอย่างมาก พยายามจะจินตนาการว่าเหตุใดจึงมีคำว่า หนาม มาเกี่ยวเนื่องกับต้นไม้มะค่าสายพันธุ์นี้ หรือว่าบริเวณกิ่งก้านลำต้นอาจจะมีหนามขึ้นมาเหมือนมะขามเทศหรืออย่างไรผู้เขียนก็เลยคิดเล่นเลยเถิดไปสนุกๆ

มีอยู่วันหนึ่่งซึ่งตอนนั้นผู้เขียนยังพักอาศัยอยู่กับญาติที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีโอกาสขี่รถจักรยานยนต์ไปเยี่ยมชมสำรวจเส้นทางภายในตัวจังหวัดเพื่อสร้างความคุ้นเคย พอเที่ยวเล่นไปสักพักหนึ่งก็อยากจะหาที่ร่มนั่งพักจึุงเลี้ยวเข้าไปในบริเวณสถาณที่ราชการแต่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นหน่วยงานใด หลักจากหาที่จอดรถจึงเดินทอดน่องสำรวจความร่มรื่นย์ไปรอบๆ ขณะำกำลังเดินสำรวจอย่างเพลิดเพลินนั้นก็พลันต้องชะงักเพราะพบเห็นต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ริมข้างๆบริเวณอาคารมีความสูงมากกว่าต้นไม้โดยรอบพอสมควรและลักษณะของกิ่งก้านและใบก็แปลกและแตกต่างออกไปชวนให้เหลียวมองและอยากค้นหาว่าคือพรรณไม้อะไรกันแน่

ผู้เขียนจึงใช้เวลาอยู่ใต้ต้นไม้ต้นนั้นอยู่พอสมควร ( ซึ่งมารู้ภายหลังว่าคือมะค่าแต้ หรือ มะค่าหนามของเรานั่นเอง ) ก็๋ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับต้นไม้ชนิดนี้ไปอีกมากโขเหตุเพราะก้มมองลงที่พื้นพบเมล็ดพันธุ์และฝักร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงหยิบเมล็ดพันธุ์ที่ตกอยู่จำนวนมากใต้ต้นมาพิจารณาดูก็ทำให้แปลกใจอีกหลายเท่าตัว เพราะมีความคล้ายคลึงลักษณะเมล็ดนั้นใกล้เคียงกับ มะค่าโมง ที่เราเคยเห็นและชอบอยู่เป็นทุนแล้วเป็นอย่างมาก เพียงแต่อาจจะมีความกลมของเมล็ดมากกว่านิดนึงรวมถึงขนาดที่ย่อส่วนลงมาเป็นครึ่งหนึ่ง หรือ หนึ่งในสาม ของเมล็ดมะค่า และจำนวนเมล็ดต่อฝักก็อาจจะน้อยกว่า และลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของต้นไม้ชนิดนี้คือมีฝักค่อนข้างกลมและผิวเปลือกภายนอกของฝักจะมีตุ่มหนามเล็กๆมากมายแต่ไม่ถึงกับแหลมคมอะไร ดูแล้วไม่เป็นอันตรายหรือจะสร้างบาดแผลให้กับคนทั่วไปได้ แต่ถ้าถอดรองเท้าและลองเหยียบไปที่ฝักอาจจะเจ็บเพราะหนามของฝักได้เช่นกัน

ก่อนจะลากลับจากต้นไม้ต้นนั้นผู้เขียนก็ขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้าทางที่ปกปักรักษาดูแลอยู่ ณ บริเวณนั้นว่าอยากจะขอเก็บฝักรวมถึงเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปศึกษารวมถึงทดลองเพาะเมล็ดต่อไป ระหว่างการเดินทางกลับบ้านพักก็เลยทำให้มีเรื่องน่าสนใจดีๆเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่งในชีวิต

เหตุที่ธรรมชาติดีไซน์ ฝักของมะค่าแต้ ให้ออกมามีตุ่มหนามเล็กๆผู้เขียนคิดวิเคราะห์จากสิ่งที่ต่างรายล้อมก็ทำให้เกิดความคิดแว้บมาเสี้ยวหนึ่งว่า น่าจะเป็นเหตุผลในการสร้างโอกาสให้เกิดการกระจายเมล็ดพันธุ์อย่างเหนือชั้นของธรรมชาติโดย หากมีสัตว์น้อยใหญ่ที่มานั่งนอนอาศัยร่มเงา โดยเฉพาะสัตว์ที่เท้ามีกีบ โอกาสที่สัตว์น้อยใหญ่เค้าจะย่ำลงไปที่พื้นดินที่อาจจะชุ่มหรือเหนียวจากการโดนฝนก็จะเป็นดินเหนียวหรือโคลนนิดๆทำให้เมล็ดมะค่าแต้หรือเมล็ดติดฝักนั้นเกาะติดไปกับดินที่แทรกระหว่างกีบเท้าของสัตว์ต่างๆเมื่อสัตว์เดินไปหาหญ้ากินในบริเวณอื่นๆ เมล็ดหรือเมล็ดติดฝักมะค่าแต้ ที่มีหนามเป็นเครื่องมือเกาะติดดินได้ดียิ่งขึ้น ก็พร้อมออกเดินทางไปสู่ฝืนดินแห่งใหม่รอนแรมจากต้นแม่ไปเติบโตในที่แห่งใหม่อย่างยั่งยืนต่อไป

ทำให้อดอมยิ้มไปกับความพิเศษของธรรมชาติที่สรรสร้างสิ่งต่างๆได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจและมีเหตุผลรองรับอย่างแยบยลในตัวของเค้าเอง และเมื่อเรามาลองนั่งคิดวิเคราะห์ก็จะทำให้ทราบถึงความเป็นธรรมะที่แฝงเร้นอยู่ในสิ่งต่างๆรอบตัวเราซึ่งมีมาแต่ดั้งแต่เดิมแล้ว ซึ่งมนุษย์เรานั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นกันเพราะฉะนั้นตัวเราก็มีธรรมะเร้นอยู่ในกายเนื้อเราเฉกเช่นเดียวกันนั่นเอง

เครดิตรูปภาพ โดย คุณ Nostalgia CU คุณ Rorng จาก magnoliathailand.com
มะค่าแต้ หรือ มะค่าหนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น